เหรียญลูกเสือสดุดี

เหรียญพิทักษ์เสรีชน

เหรียญราชการชายแดน

เหรียญกาชาดสมนาคุณ

เหรียญกาชาดสรรเสริญ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ

 

เหรียญลูกเสือสดุดี
The Boy Scout Citation Medal

                  เหรียญลูกเสือสดุดี เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ สร้างขึ้นตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. ๒๕๐๗ เช่นเดียวกับ เหรียญลูกเสือสรรเสริญ สำหรับพระราชทาน แก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือ เจ้าหน้าที่และบุคคลอื่น บรรดาผู้ที่มีอุปการคุณถึงขนาด หรือผู้ที่ได้อุทิศกำลังกาย หรือ กำลังความคิดในการประกอบกิจ ให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสือ อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรา    พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามกีรติ ลูกเสือสดุดีพิเศษขึ้นอีกชั้นหนึ่ง    

                นายรัฐวุฒิ   ชินวงษ์เกตุ   รองผู้ตรวจการลูกเสือ ฯ เพิ่มเติมว่า

ถ้าจะอธิบายอย่างชัดเจนคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่ ๑๔ มกราคม ๒๔๙๐

ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งแรกสถาปนานั้นมีเพียงชั้นเดียว

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงโปรดเกล้าสถาปนาเหรียญลูกเสือสดุดีขึ้นเป็น ๓ ชั้น

               เหรียญลูกเสือสดุดี เป็นเหรียญเงิน มีลักษณะกลมรี ขนาดกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๓.๒ เซนติเมตร

               ด้านหน้า ตรงกลางมีตราหน้าเสือประกอบวชิระ ริมขอบส่วนบนมีอักษรว่า "ลูกเสือ" และส่วนล่าง มีอักษรว่า         "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ตราหน้าเสือประกอบวชิระ และตัวอักษรให้ทำเป็นลายดุน

               ด้านหลัง เป็นพื้นเกลี้ยง จารึกนามของผู้ซึ่งได้รับพระราชทาน และวันที่พระราชทาน ที่ขอบส่วนบนของเหรียญมีห่วงห้อย แพรแถบขนาดกว้าง ๒.๔ เซนติเมตร มีริ้วสีเหลืองกว้าง ๑.๒ เซนติเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีดำกว้าง      ๖ มิลลิเมตร

               เหรียญลูกเสือสดุดีแบ่งเป็น ๓ ชั้น ดังนี้
               ชั้นที่ ๑ มีเข็มวชิระ ทำด้วยโลหะเงิน ประดับแพรแถบตรงกึ่งกลางในแนวทางดิ่ง ๑ เข็ม
               ชั้นที่ ๒ มีเข็มหน้าเสือ ทำด้วยโลหะเงิน ประดับที่แพรแถบตรงกึ่งกลางในแนวทางดิ่ง ๑ เข็ม
               ชั้นที่ ๓ ไม่มีเข็มวชิระ และเข็มหน้าเสือประดับที่แพรแถบ

               เหรียญนี้ใช้ห้อยกับแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเหนือปกกระเป๋าเบื้องซ้าย

ชั้นที่ ๑

ชั้นที่ ๒

ชั้นที่ ๓

 

การพระราชทาน

  1. สำหรับพระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือ เจ้าหน้าที่ลูกเสือ และบุคคลอื่น บรรดา ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือถึงขนาด หรือที่ได้อุทิศกำลังกาย หรือ กำลังความคิด ในการประกอบกิจให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสือ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๐๗ และพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่๓) พ.ศ.๒๕๒๘ และพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่๔) พ.ศ.๒๕๓๐ ดังนี้
    เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ ๑   จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือถึงขนาด หรือที่ได้อุทิศกำลังกาย หรือกำลังความคิด ในการประกอบกิจการ ให้บังเกิดคุณประโยชน์แก่การลูกเสืออย่างยิ่ง ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
    เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ ๒   จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือ ดังต่อไปนี้
      (๑) บริจาคเงิน หรือทรัพย์สิ่งของต่างๆ ครั้งเดียว หรือหลายครั้งรวมกัน เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
      (๒) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับที่ ๑ วิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้น หรือขั้นความรู้ชั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ๕๐ ครั้ง หรือระดับที่ ๒ การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือแล้ว โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ๒๐ ครั้ง
      (๓) ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่นๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า ๕ ปี และปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐ ครั้ง หรือ
      (๔) ช่วยเหลือและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทย กับคณะลูกเสือต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง
    เหรียญลูกเสือสดุดีที่ ๓   จะพระราชทานแก่ผู้ที่มีอุปการคุณต่อการลูกเสือดังต่อไปนี้
      (๑) บริจาคเงินหรือทรัพย์สิ่งของต่างๆ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง รวมกันเป็นจำนวนเงิน ไม่น้อยกว่า ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
      (๒) ช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับที่ ๑ วิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้น หรือขั้นความรู้ขั้นสูง โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ๒๕ ครั้ง หรือระดับที่ ๒ การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือแล้ว โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า ๑๐ ครั้ง
      (๓) ช่วยเหลือเป็นอย่างดี ในการฝึกอบรมวิชานายหมู่ลูกเสือ หรือวิชาลูกเสือประเภทต่างๆ โดยอยู่ประจำตลอดการฝึกอบรม ครั้งละ ๓ วัน ไม่น้อยกว่า ๕๐ ครั้ง
      (๔) ช่วยเหลือกิจการลูกเสือด้านอื่นๆ จนเกิดผลดีแก่การลูกเสือติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ ปี และปีหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่า ๕ ครั้ง หรือ
      (๕) ช่วยเหลือ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคณะลูกเสือไทย กับคณะลูกเสือต่างประเทศเป็นอย่างดี
  2. ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีอยู่แล้ว ในวันที่พระราชบัญญัติลูกเสือ(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๘ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ถือว่าเป็นผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่๑ ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ             พ.ศ.๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว
  3. เมื่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ผู้ใดสมควรได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานต่อไป
  4. การพระราชทานนี้ จะพระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้รับพระราชทานวายชนม์ ให้ทายาทโดยธรรมรักษาไว้เป็นที่ระลึก

หรียญลูกเสือสรรเสริญ
The Boy Scout Commendation Medal

                 เหรียญลูกเสือสรรเสริญ เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๐๗ สำหรับพระราชทานแก่ ลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ

               เหรียญลูกเสือสรรเสริญ เป็นเหรียญเงินกลมรี ขนาดกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๓.๒ เซนติเมตร

               ด้านหน้า ตรงกลางมีตราหน้าเสือประกอบวชิระ ริมขอบส่วนบนมีอักษรว่า "ลูกเสือ" และส่วนกลาง มีอักษรว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ตราหน้าเสือประกอบวชิระ และตัวอักษรให้ทำเป็นลายดุน

               ด้านหลัง เป็นพื้นเกลี้ยง จารึกนามเลขหมายประจำตัว ของผู้ได้รับพระราชทาน นามหน่วยลูกเสือสังกัด และวันที่พระราชทาน ที่ขอบส่วนบนของเหรียญมีห่วงห้อย แพรแถบขนาดกว้าง ๒.๔ เซนติเมตร มีริ้วสีดำกว้าง ๑.๒ เซนติเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีเหลืองกว้าง ๖ มิลลิเมตร

               เหรียญลูกเสือสรรเสริญ มี ๓ ชั้น ดังนี้
               ชั้นที่ ๑ มีเฟลอร์เดอลีส์ ทำด้วยโลหะเงินประดับที่แพรแถบ ๒ ดอกตามแนวนอน
               ชั้นที่ ๒ มีเฟลอร์เดอลีส์ ทำด้วยโลหะเงินประดับที่แพรแถบตรงกึ่งกลาง ๑ ดอก
               ชั้นที่ ๓ ไม่มีเฟลอร์เดอลีส์ประดับที่แพรแถบ

               เหรียญนี้ใช้ห้อยกับแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเหนือปกกระเป๋าเบื้องซ้าย

ชั้นที่ ๑

ชั้นที่ ๒

ชั้นที่ ๓

 

การพระราชทาน

  1. จะพระราชทานเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่ ๑ - ชั้นที่ ๓ ตามกำหนดเกณฑ์ การกระทำความดีความชอบ ในการช่วยเหลือผู้อื่น ตามที่บัญญํติไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.๒๕๐๗ และพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่๔) พ.ศ.๒๕๓๐ ดังนี้
    ๑. เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่ ๑   จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบ ซึ่งได้กระทำการ รักษาความปลอดภัย หรือ สันติสุขเพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตราย ทั้งนี้โดยตนเอง ได้ฝ่าอันตรายจนถึงขนาดที่สมควรได้รับพระราชทานเหรียญนี้ หรือตนเอง ได้ประสบอันตรายถึงทุพพลภาพ หรือถึงเสียชีวิต
    ๒. เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่ ๒   จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบ ซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตราย โดยตนเองได้ประสบอันตราย หรือฝ่าอันตราย หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบ ในข้อต่อไปนี้ทุกข้อรวมกัน ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ครั้ง และในแต่ละข้อไม่น้อยกว่า ๑๐ ครั้ง คือ
      (๑) ช่วยเหลือผู้ได้รับทุกข์ยากลำบากที่ควรช่วย
      (๒) ช่วยเหลือหรือป้องกันผู้อื่น หรือ ทรัพย์สินของผู้อื่นให้พ้นอันตราย
      (๓) ช่วยสัตว์ให้พ้นจากการทรมาน หรือพ้นทุกขเวทนา
      (๔) ทำการปฐมพยาบาล
      (๕) ช่วยเหลือราชการ
      (๖) ช่วยเหลือกิจการอันเป็นสาธารณกุศล
      (๗) ช่วยเหลือผู้ปกครอง หรือช่วยเหลือเพื่อนบ้าน
      (๘) ช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของโรงเรียน หรือ ของที่ทำงาน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ตามปกติ
    ๓. เหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่ ๓   จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบ ซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตราย แม้เพียงครั้งเดียว หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบ ตามเกณฑ์สำหรับเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่ ๒ ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่า ๕๐ ครั้ง และในแต่ละข้อ ไม่น้อยกว่า ๕ ครั้ง
  2. เมื่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติพิจารณาเห็นว่า ผู้ใดสมควรได้รับพระราชทาน เหรียญลูกเสือสรรเสริญ ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานต่อไป
  3. การพระราชทาน จะพระราชทานให้ป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้รับพระราชทาน เมื่อผู้รับพระราชทานวายชนม์ ให้ทายาทโดยธรรม รักษาไว้เป็นที่ระลึก